2024-06-18 HaiPress
"พิมพ์ภัทรา" ย้ำท่าทีเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ต้องปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เจรจาเพิ่มตรวจสอบรับรองรถยนต์-ชิ้นส่วน
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทย เจรจาต่อรองด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในการประชุมภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย-สภาพยุโรป (อียู) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-20 มิ.ย. 67 ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 2 ที่กรุงเทพมหานครมาแล้ว
สำหรับการประชุมรอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม สมอ. จะเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมในการเจรจาจัดทำอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้ามีประเด็นหารือสำคัญที่อียู นำเสนอ เช่น การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้า การตรวจติดตามสินค้าในตลาด มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองในสาขายานยนต์ ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายภาคส่วน การเจรจาจึงต้องมีความรอบคอบ เพื่อให้มีพันธกรณีที่เหมาะสม เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. เป็นผู้แทนประเทศไทย มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน การประกาศใช้มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองระหว่างไทยกับอียู ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ ให้เกิดความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้าระหว่างไทย และอียู ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของไทย จะเจรจาบนพื้นฐานของความตกลงองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และจะพิจารณาให้มีพันธกรณีเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยหน่วยงานของไทยสามารถปฏิบัติได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
ส่วนประเด็นที่จะหารือเพิ่มเติมกับอียู คือ การกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน โดยตระหนักถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของ สมอ. ในการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้า และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ
คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา