หุ้นไทยร่วงแตะจุดต่ำสุดใหม่ นักลงทุนจับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

2024-06-18 HaiPress

หุ้นไทยร่วงแตะจุดต่ำสุดใหม่ ทำสถิติในรอบกว่า 3 ปี 7 เดือน นักลงทุนจับตาปัจจัยสำคัญในสัปดาห์หน้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และ บล.กสิกรไทย รายงานสถานการณ์ดัชนีหุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดใหม่ในรอบกว่า 3 ปี 7 เดือน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยหุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน

หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค. ของสหรัฐ ออกมาสูงกว่าตลาดคาด ประกอบกับนักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นแรงเทขายทำกำไรในหุ้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดย ไฟแนนซ์ อสังหาริมทรัพย์และพลังงาน

หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบในเวลาต่อมาก่อนจะทยอยปรับตัวลงอีกครั้งหลังการประชุมเฟด เนื่องจากเฟดส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ประกอบกับนักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนระหว่างรอติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยหุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 3 ปี 7 เดือนที่ 1,304.31 จุดในช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อย

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง (17 วันทำการ) อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ (มีแรงหนุนจากประเด็นกนง.มีมติคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุด) และเทคโนโลยี (มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว) ปรับตัวขึ้นสวนทางหุ้นในกลุ่มอื่นๆ

ในวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,306.56 จุด ลดลง 1.96% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,458.19 ล้านบาท ลดลง 2.77% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.31% มาปิดที่ระดับ 355.91 จุด

สัปดาห์ถัดไป (17-21 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,300 และ 1,285 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,315 และ 1,325 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศและทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือน มิ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือน มิ.ย. ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือน มิ.ย. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ติดต่อเรา

©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายการศึกษาไทย    ติดต่อเรา  SiteMap