2024-07-02 HaiPress
น่าอัศจรรย์! พระอาทิตย์ทรงกลด 2 ชั้น ขณะ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ สักการะหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ และยังพบงูจงอางขนาดใหญ่ แผ่แม่เบี้ยอยู่กลางถนน ในขณะที่รถขบวนแล่นผ่าน หลังเดินทางเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองชลภาวัฒนา
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการผลิตไฟฟ้า เขื่อนลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้ลงนามในสมุดเยี่ยมชม พร้อมชมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดินทั้ง 4 เครื่อง ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,000 เมกะวัตต์ (MW) สามารถเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอย่างต่อเนื่อง
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม ที่จังหวัดนครราชสีมา จึงถือโอกาสมาตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับลำตะคองของ กฟผ. และการผลิตไฟฟ้าท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และกรมชลประทาน เพื่อติดตามการทำงาน รวมถึงรับทราบถึงศักยภาพการผลิตและปัญหาต่างๆ ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้
ทั้งนี้ จากการได้เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย พบว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ สามารถเสริมศักยภาพการจ่ายไฟให้กับประชาชนในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (peak) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกำลังการผลิตถึง 1,000 MW
“อย่างที่ทราบกันดีว่า เรากำลังผลักดันในเรื่องพลังงานสะอาด ด้วยการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากน้ำ เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนก็ไม่สูญเปล่า สอดคล้องกับพัฒนาและนำศักยภาพจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง และยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย“
ในระหว่างที่นายพีระพันธุ์ กำลังกราบสักการะพระพุทธสิริสัตตราช หรือหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่เหนืออ่างพักน้ำเขายายเที่ยง ได้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด 2 ชั้น ขึ้นเหนืออ่างพักน้ำอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในระหว่างเดินทางกลับลงมาจากอ่างพักน้ำเขายายเที่ยง ยังปรากฏ ‘งูจงอาง’ ขนาดใหญ่แผ่แม่เบี้ยอยู่กลางถนน และชูคอแผ่แม่เบี้ยอยู่เช่นนั้น จนกระทั่งขบวนรถแล่นผ่าน จึงเลื้อยกลับเข้าป่าไป ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ ได้สร้างความฮือฮาให้กับคณะผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองฯ เป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินพลังน้ำแบบแบบสูบกลับแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ตั้งอยู่ใกล้กับเขื่อนลำตะคอง ทำงานโดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองของกรมชลประทานไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยง ซึ่งมีความจุ 9.9 ล้านลูกบาศก์ ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงกลางคืนถึงเช้า และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวันถึงค่ำ จะปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม
โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองฯ ระยะที่1 ก่อสร้างระหว่างปี 2537-2547 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่อง ขนาด 250 MW รวม 500 MW และ จ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ (COD) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2547 ส่วนระยะที่ 1 ก่อสร้างระหว่างปี 2559-2562 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่อง ขนาด 250 MW รวม 500 MW และ COD เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้เต็ม 1,000 MW และสามารถจ่ายไฟได้ต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง
ทั้งนี้ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ตั้งแต่ ปี 2547-2566 รวทั้งสิ้น 6,317 ล้านหน่วย ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) ผลิตได้ 134 ล้านหน่วย
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังได้เยี่ยมชมอ่างพักน้ำตอนบนเขายายเที่ยง และชมทุ่งกังหันลม ในโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคองระยะที่ 2 ของ กฟผ. ซึ่งนอกจากการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นแหล่งม่องเที่ยวสำคัญแบบ Unseen ของจังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย
อนึ่ง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับว่า “โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา” มีความหมายว่า โรงไฟฟ้าลำตะคองเป็นที่พัฒนาแสงไฟด้วยน้ำ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปเปิดโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556 นับเป็นโรงไฟฟ้าแห่งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอันเป็นสิริมงคล
คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา