นภินทร’ เกาะติด 3 นโยบาย กระตุ้นรายได้ SME ช่วยลดเวลาติดต่อราชการ

2024-08-13 HaiPress

นภินทร’ เกาะติดความคืบหน้านโยบาย 3 ด้าน เพื่อธุรกิจและประชาชน เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว ช่วยลดเวลาติดต่อราชการ และกระตุ้นรายได้ SME จริง

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 ได้เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและรับฟังความคืบหน้าการแปลงนโยบายที่ได้มอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจไปสู่การปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม โดยมีผู้บริหารกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รายงานความคืบหน้าในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมองเห็นความสำเร็จแล้วในหลายด้าน

รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “นโยบายแรกพัฒนาระบบจดทะเบียนนิติบุคคลและข้อมูลธุรกิจ ได้ปรับปรุงบริการให้รองรับกับระบบออนไลน์มากขึ้น ช่วง ต.ค.66-มิ.ย.67 มีผู้ใช้งานระบบจดทะเบียนและข้อมูลธุรกิจผ่านทางออนไลน์ถึง 3.6 ล้านคำขอ คิดเป็น 76% ของคำขอทั้งหมด ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าอยู่ที่ 3 ล้านคำขอ คิดเป็น 68% แสดงให้อัตราการเติบโตของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้ระบบให้บริการครอบคลุมเกือบทุกกระบวนงานแล้ว และจะใช้งานได้แบบสมบูรณ์ครบ 100% ภายใน 3 ปี โดยล่าสุดได้เปิดใช้งานระบบ e-Foreign Business เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567


ที่ผ่านมา เป็นบริการยื่นคำขอรับใบอนุญาต/หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และงานทะเบียนอื่นๆ ที่ช่วยยกระดับการลงทุน โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถขออนุญาตผ่านทางออนไลน์ได้สะดวกขึ้น ลดต้นทุน ลดเวลาติดต่อกับภาครัฐ และระบบจดทะเบียนนิติบุคคลเวอร์ชันใหม่ภายใต้ชื่อ Biz Regist ที่ใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ลดการกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน มีช่องทางการลงลายมือชื่อหลายช่องทาง ประกอบกับการยืนยันตัวตนของผู้จดทะเบียนจะแม่นยำมากขึ้น และรวดเร็วเพราะเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครอง

ทั้งนี้ ยังได้ขยายความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวน 185 รายผ่านระบบBDEXโดยในจำนวนนี้มี 10 หน่วยงานภาครัฐที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องยื่นเอกสารนิติบุคคลอีกต่อไป และจะขยายให้ครบทุกหน่วยงานราชการที่ต้องเรียกเอกสารนิติบุคคลที่มีกว่า 90 หน่วยงานให้ครบ 100%ในอีก 3 ปีข้างหน้า สำหรับบริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีผู้ใช้บริการเลือกขอรับหนังสือรับรองในรูปแบบไฟล์หรือe-Certificate Fileถึง 63%ของช่องทางการรับเอกสารทั้งหมด และมากถึง 250,449 ราย ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 50%โอกาสนี้ตนยังได้กำชับให้กรมฯ เร่งสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจและผู้ใช้งานเห็นถึงประโยชน์ของบริการผ่านระบบออนไลน์และเปลี่ยนมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น

นโยบายส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ มีความคืบหน้าในการพัฒนาธุรกิจกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจแฟรนไชส์ ได้สร้างแฟรนไชส์หน้าใหม่ป้อนเข้าสู่ตลาด พร้อมด้วยการยกระดับให้มีมาตรฐาน ส่งเสริมให้นักลงทุนตั้งเป้าให้แฟรนไชส์เป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพ โดยแผนที่จะดำเนินการในปีข้างหน้าจะเป็นการต่อยอดให้ แฟรนไชส์ไทยมีที่ยืนในตลาดโลกให้ได้ สำหรับการสร้างงานให้ประชาชนและขยายตลาดให้ SME ได้ร่วมมือกับกรมการจัดหางานพาแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมกิจกรรมสร้างงานและเส้นทางสู่อาชีพ ซึ่งจะช่วยให้ SME เข้าถึงลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น ด้านธุรกิจร้านอาหาร ร่วมมือกับกรมการท่องเที่ยวเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Thai SELECT เป็นที่รู้จักของนักชิมชาวไทยและต่างชาติ และยังส่งเสริมร้านอาหารไทยให้เข้าร่วมกับโครงการ Thai SELECT อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ มีจำนวน 370 ร้านทั่วประเทศ

ด้านการขับเคลื่อนร้านค้าโชห่วยถือเป็นนโยบายที่ตนให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการเพราะจะทำให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ในท้องถิ่นและส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยได้จับมือกับร้านค้าต้นแบบมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ร้านโชห่วยในท้องถิ่นมีที่ปรึกษา ในปี 2567 จะพัฒนาความรู้ให้ร้านโชห่วยทั่วไทยกว่า 2,600 ราย และพัฒนาเป็นสมาร์ทโชห่วย พลัส โดยจะปรับภาพลักษณ์จำนวน 150 ร้านค้า และส่งเสริมให้ใช้ระบบ POS จำนวน 100 ร้านค้า รวมถึงการส่งเสริมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยได้พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ด้าน Digital Marketing ให้สามารถขายสินค้าบนออนไลน์ ผ่านหลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตรปั้นร้านค้าออนไลน์ขั้นเทพ (OMG) รวมกว่า 32,000 ราย และการพัฒนาชุมชนออนไลน์ต้นแบบ (Digital Village by DBD) ซึ่งเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนให้สามารถขยายโอกาสการตลาดออนไลน์ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน รวม 96 ชุมชน 55 จังหวัด นอกจากธุรกิจที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ยังสร้างความเข้มแข็งให้ MOC Biz Club เกิดการสร้างเครือข่ายในพื้นที่มากขึ้น พร้อมพาเข้าร่วมแสดงสินค้าและเจรจาจับคู่ธุรกิจ รวมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านร้าน Biz Shop ที่ขณะนี้มี 13 ร้าน ใน 11 จังหวัด และจะขยายให้ครบทั่วประเทศภายในปี 2570  

สุดท้ายนโยบายการกำกับดูแลและสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ เป็นนโยบายที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมธุรกิจเพราะการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ขาวสะอาดจะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเกิดความเชื่อมั่น โดยกำหนดมาตรการป้องปรามการกระทำในลักษณะนอมินี ทั้งการตรวจสอบฐานะการเงินของผู้ลงทุนคนไทย กรณีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5 ล้านบาทก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นมีศักยภาพในการลงทุนจริง และได้จัดทำแผนตรวจสอบธุรกิจที่เป็นกลุ่มเสี่ยงร่วมกับพันธมิตรเพื่อติดตามการดำเนินธุรกิจภายหลังจัดตั้งนิติบุคคลไปแล้ว ในปี 2567 พบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีจำนวน 26,019 ราย เป็นธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และขนส่ง ปัจจุบันได้ประสานความร่วมมือและดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ ปปง. DSI สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการท่องเที่ยว และสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อสืบสวนในเชิงลึกต่อไป อีกทั้ง ยังกำกับส่งเสริมให้สำนักงานบัญชีจัดทำบัญชีให้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมสร้างนักบัญชีที่มีคุณภาพเพื่อยกมาตรฐานวิชาชีพบัญชีให้เป็นที่ยอมรับในสากล

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ติดต่อเรา

©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายการศึกษาไทย    ติดต่อเรา  SiteMap