“พาณิชย์” จับมือ ท่าเรือยักษ์อเมริกา เปิดทางส่งออกสินค้าไทย รับมือสงครามการค้า

2024-11-21 HaiPress

“พาณิชย์” จับมือ Port of Long Beach ท่าเรือยักษ์ใหญ่นำเข้าสินค้าไทยอันดับหนึ่งในสหรัฐ เปิดทางส่งออกสินค้าไทยเข้าสหรัฐเพิ่ม หลังคาดเกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน อีกรอบ

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เวลา 12.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา) ณ Port of Long Beach นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ Ms.Bonnie Lowenthal,President


Board of Habor Commissioners,Dr.Noel Hacegaba,Chief Operating Officer,Mr. Russell Mahakian,Business Development Manager และ Ms.Mechelle Ngin,Business Development Manager ผู้บริหาร Port of Long Beach ท่าเรือที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน ที่มีตู้สินค้าผ่านเข้าออกมากที่สุดของประเทศสหรัฐ และมากเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยมีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคณะเข้าร่วม เพื่อวางแผนในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐ และอำนวยความสะดวกให้สินค้าไทยเข้าสหรัฐเพิ่ม

นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า Port of Long Beach เป็นท่าเรือที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน มีท่าเทียบเรือสำหรับขนถ่ายตู้คอนเทเนอร์ 6 ท่า ท่าสำหรับขนถ่ายน้ำมันดิบ 5 ท่า เครนยกตู้คอนเทเนอร์ 72 เครน มีสินค้าผ่านเข้าออกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงต้องมาหาโอกาสในการเพิ่มความร่วมมือ เพื่อเพิ่มปริมาณตู้สินค้าระหว่างไทยกับท่าเรือ ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐ ทำได้ดีขึ้น

“วันนี้เราได้หารือร่วมกับทางผู้บริหาร Port of Long Beach เพื่อมาขยายความร่วมมือ เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าจากไทยมายังสหรัฐ ผ่านท่าเรือลองบีชและท่าเรือลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญอันดับหนึ่งที่ไทยส่งสินค้ามายังสหรัฐอเมริกา ถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการส่งออก ในสินค้ายุทธศาสตร์ โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับทูตพาณิชย์ฝั่งทวีปอเมริกาและลาตินอเมริกา ท่ามกลางปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ว่าจะทำอย่างไรในการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ส่งออกสินค้ามายังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ตอนนี้ได้ให้ทูตพาณิชย์ดูว่าจะมีสินค้าไทยตัวไหนที่สามารถส่งมาทดแทนได้“ นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ด้านนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เห็นโอกาสของสินค้าไทยสูงมาก ได้คุยกับผู้บริหารท่าเรือฯ รู้สึกว่าเซาท์อีสต์เอเชียโดยเฉพาะไทยจะเป็นแหล่งที่เจริญ จะมีการค้าเพิ่มมากขึ้น สินค้าที่ส่งมายังสหรัฐส่วนใหญ่เป็นยางและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นโอกาสของเราเพราะนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ดูทิศทางแล้วมีโอกาสทำสงครามการค้ากับจีนอีก อาจจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยผลิตและทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ขณะนี้ทำงานเชิงรุกใกล้ชิดกับพาณิชย์จังหวัดที่เข้าถึงผู้ประกอบการในภูมิภาค โดยเฉพาะ SMEs สนับสนุนและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการมากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการโครงการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างท่าเรือกับจุดหมายปลายทาง เพื่อลดความแออัดในท่าเรือ และรองรับปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และโครงการในการพัฒนาให้ท่าเรือ Long Beach กลายเป็นท่า Zeero (Zero Emission,Energy Resilient Ops) รวมไปถึงขอทราบสถานการณ์การนำเข้าสินค้าของท่าเรือในฝั่งตะวันตกของสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศไทย และแนวทางการแก้ปัญหาและสถานการณ์ความแออัดของท่าเรือ เพื่อนำมาวางแผนในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐ ต่อไป

ซึ่งปัจจุบัน San Pedro Bay (Port of Long Beach & Port of Los Angeles) เป็น Port Complex ที่มีตู้สินค้าผ่านเข้าออกมากที่สุดของประเทศสหรัฐ และมากเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยในปี 2566 มีปริมาณสินค้าเข้าออกรวม 16.6 ล้านตู้ ขนาด 20 ฟุต ในจำนวนนี้เป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยประมาณ 360,803 ตู้ สินค้าที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ยางและผลิตภัณฑ์ 74,762 ตู้ 2.เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หม้อไอน้ำ 68,354 ตู้ 3.เครื่องจักรไฟฟ้า 55,324 ตู้ 4.เฟอร์นิเจอร์ 18,163 ตู้ และ 5.รถยนต์และส่วนประกอบ 14,728 ตู้

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ติดต่อเรา

©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายการศึกษาไทย    ติดต่อเรา  SiteMap