2024-11-26 HaiPress
โพลระบุชัด เลือกตั้งนายก อบจ. งวดหน้า เงินสะพัดซื้อเสียงพุ่ง 1-1.6 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยจ่ายหัวละ 900 บาท ตกใจ! ชาวบ้านบอกรับถ้า อบจ. ทุจริต แต่สร้างประโยชน์ท้องถิ่น ด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จี้ กกต.-ป.ป.ช. เร่งปราบคอร์รัปชัน พลิกชีวิตประชาชนท้องถิ่น
นางสาวเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,017 รายทั่วประเทศ วันที่ 1-11 ต.ค. 67 ว่า วันที่ 20 ธ.ค. นี้ วาระของนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศจะสิ้นสุดลง และจะมีการเลือกตั้งเดือน ก.พ. 68 ผลสำรวจพบว่า การเลือกตั้งจะมีการซื้อเสียงแน่นอน โดยปริมณฑล เฉลี่ยคนละ 897 บาท ภาคกลาง เฉลี่ย 1,291 บาท ภาคตะวันออก เฉลี่ย 516 บาท ภาคเหนือ เฉลี่ย 907 บาท ภาคอีสาน เฉลี่ย 827 บาท และภาคใต้ เฉลี่ย 1,016 บาท หรือโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 903 บาท
ทั้งนี้ หากผู้มีสิทธิมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 40-65% ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมดกว่า 28.21 ล้านคน จะมีการซื้อเสียงสูงถึง 10,193-16,564 ล้านบาท ซึ่งผู้ตอบมากถึง 63.7% บอกว่า รับได้หากมีการซื้อเสียง และ 32.7% รับไม่ได้ ขณะที่ 58.7% บอกว่า การซื้อเสียงชักจูงให้เลือกผู้สมัครที่ให้เงินได้ อีก 41.3% บอกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า รับเงินแล้วจะเลือกคนที่จ่ายเงินให้หรือไม่ มากถึง 56% ไม่เลือก และ 44% เลือก แต่หากมีการจ่ายเงินให้เฉลี่ย 2,784 บาท ก็จะเปลี่ยนใจเลือกผู้สมัครคนอื่นได้ เพราะให้เงินมากกว่าคู่แข่ง ทดลองการเปลี่ยนแปลง ต้องการได้เงิน ฯลฯ อีกทั้งผู้ตอบส่วนใหญ่ยังเลือกผู้สมัครที่มีความคุ้นเคย
นอกจากนี้ เมื่อถามว่าทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยมีการโกง/ทุจริตงบประมาณท้องถิ่นมูลค่ามหาศาล มากถึง 95.4% ทราบ มีเพียง 4.6% เท่านั้นที่ไม่ทราบ ขณะที่ 85.4% เคยได้ยินข่าวการทุจริตของนักการเมืองท้องถิ่น อีก 14.6% ไม่เคยได้ยิน อีกทั้งส่วนใหญ่ 66.3% เห็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะทำให้ได้คนดี มีความสามารถในระดับปานกลาง,32.7% มาก และ 10% น้อย อย่างไรก็ตาม 93.6% อยากมีส่วนร่วมแก้ปัญหาทุจริต มีเพียง 6.3% ที่ไม่ต้องการมีส่วนร่วม เพราะไม่อยากเดือดร้อน/อันตราย และไม่มีเวลา
“น่าตกใจ เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่หากอบจ.ทุจริตบ้างแต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้พื้นที่ มากถึง 40.4% เห็นด้วย อีก 27.6% ไม่เห็นด้วย และ 32% ไม่แน่ใจ และหากพิสูจน์ได้ว่า ผู้สมัครเคยมีประวัติทุจริตจะเลือกหรือไม่ 41% ตอบเลือก,41.2% ไม่เลือก และ 17.8% ไม่แน่ใจ ทั้งๆ ที่ประชาชนรู้ว่า หากเลือกไปแล้วจะส่งผลเสียต่อพื้นที่ ทั้งทำโครงการพัฒนาไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน เกิดความเหลื่อมล้ำ งบประมาณถูกใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยว เสียภาพลักษณ์ของจังหวัด”
อย่างไรก็ตาม 85% บอกว่าถ้าผู้สมัครไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันก็จะเลือก เพราะคุ้นเคยกัน มีผลงานดี เข้าใจปัญหาท้องถิ่น ไม่มีประวัติเสีย ตรวจสอบได้ มีเพียง 15% บอกไม่เลือกเพราะไม่โปร่งใส ซื่อสัตย์ตั้งแต่เริ่ม และเป็นช่องทางก่อให้เกิดทุจริตได้ง่าย สำหรับมาตรการที่จะช่วยป้องกันการทุจริตในท้องถิ่นได้ดีที่สุด คือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบ เลือกคนดีมาบริหาร ปรับปรุงการจัดซื้อให้โปร่งใส เพิ่มอำนาจหน่วยงานตรวจสอบ และเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น
“อยากฝากผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่วนประชาชน ก็อยากให้ตื่นรู้เลือกคนดี ซื่อสัตย์ การเลือกตั้งท้องถิ่นสำคัญมาก ประเทศไทยไม่มีเงินเหลือที่จะแก้ปัญหาประเทศได้ ถ้าเอาเงินไปสูยเสียกับการคอร์รัปชันจนหมด”
ด้านนายวิเชียร พงศธร ประธาน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และประธานกรรมการมูลนิธิ “เพื่อคนไทย” กล่าวว่า จำนวนเงินที่สะพัดจากการซื้อเสียงมากถึงกว่า 15,000 ล้านบาทนั้น ถ้าลงทุนมากขนาดนี้ ไม่ต้องคิดเลยว่า จะไปถอนทุนคืนเท่าไร ทำให้เห็นว่า การใช้งบประมาณท้องถิ่นไม่คุ้มค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล และน่าเสียดายมาก จึงต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การพลิกชีวิตมหาศาลของประชาชน อีกทั้งยังหวังว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทราบถึงการมีอยู่ของการซื้อสิทธิขายเสียง และหาทางป้องกัน เปลี่ยนแปลง ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ต้องเร่งตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ทุจริตด้วย
“ที่น่าหนักใจคือ เมื่อมีการโกงกันแล้ว แต่ประชาชนกลับยอมรับได้ เพราะคงยังไม่รู้ว่า จะเกิดผลเสียกับตนเอง และท้องถิ่นอย่างไร หรือรู้ว่ามีการซื้อสิทธิ ขายเสียง แต่กลับยอมรับได้ เพราะเป็นความคุ้นเคยที่มีมานานแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ อยากเห็นผู้แทนเป็นคนดี เป็นแสงสว่างที่จะพลิกชีวิตประชาชน”
นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากผลสำรวจประชาชนทราบว่า ท้องถิ่นมีการคอร์รัปชันกันมาก แต่แปลกที่คนมีอำนาจหน้าที่ในการเลือกตั้ง และป้องกันการคอร์รัปชัน เช่น กกต. และ ป.ป.ช. กลับไม่รู้เห็น เพราะในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา พบว่า นายก อบจ. ที่ถูกฟ้องร้องร่ำรวยผิดปกตินั้น มี 2 รายที่ตัดสินไปแล้ว และมีอีก 2 ราย ที่อยู่ระหว่างการตัดสินเท่านั้น
“คดีทั้งหมดมีแค่นี้จริงหรือ เท่าที่สืบค้นได้มีแค่ 10 กว่าคดีเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยบนแผ่นดินนี้ และหากดูจากข้อมูลการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน นักการเมืองท้องถิ่นบางคนมีทรัพย์สินเป็นร้อยล้าน หรือพันล้านบาท อยากเชิญชวนประชาชนให้ติดตาม และเปิดโปงทุจริต เพื่อความสุข และความก้าวหน้าของท้องถิ่น”
คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา