2024-12-18 IDOPRESS
'ประธานสภาพัฒน์' ฟันธงจีดีพีโค้งสุดท้ายปี 67 ขยายตัว 4% จับตา 4 ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 68
วันที่ 17 ธ.ค. นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 67จะขยายตัวได้ 2.7%โดยไตรมาส 4 จีดีพีจะขยายตัวได้ 4% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวของการส่งออก
ขณะที่ในปี 68 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า จีดีพีจะขยายตัว 2.9% แต่แนวโน้มยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีความเสี่ยงที่โน้มเอียงไปในทิศทางขาลง
สำหรับในปี 68 จะมี 4 ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้คือ การส่งออกสินค้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50% ของจีดีพี โดยการส่งออกของไทยไปสหรัฐ เท่ากับเกือบ 10% ของจีดีพี จะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่มีผลกระทบทางลบหรือความเสียหายมาก และตลาดยุโรปกับจีนก็ดูจะไม่แข็งแรง และการท่องเที่ยวคงจะฟื้นตัวต่อไป คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 68 น่าจะกลับไปที่ 40 ล้านคน เท่ากับปริมาณก่อนการระบาดของโควิด-19
แต่รายจ่ายต่อหัวจะยังต่ำกว่า นอกจากนี้แรงกระตุ้นจากภาครัฐคงจะมีต่อเนื่องถึงประมาณกลางปีหน้า จากการแจกเงินก้อนสุดท้าย และการเร่งใช้งบลงทุน แต่การที่รัฐมนตรีคลังพูดถึงการเก็บภาษีเพิ่ม แปลว่า นโยบายการคลังน่าจะตึงตัวขึ้น และนโยบายการเงินนั้น ตลาดคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปี 68 เพราะเงินเฟ้อต่ำมาก
ขณะเดียวกัน ธปท.ยังคงจะส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ และธนาคารพาณิชย์เองก็คงจะต้องใช้เวลากับการแก้หนี้เสียที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย ดังนั้น แนวโน้มของการลดลงของสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ก็จะยังดำเนินต่อไปในปี 68 อย่างไรก็ตาม หาก ธปท.ผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป ผลที่จะตามมาคือ กำลังซื้อในประเทศจะไม่แข็งแรงและเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกได้
นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ ผู้อำนวยการ การเงิน บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโต 2.9% ในปี 68 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกในภูมิภาค การที่สหรัฐอาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมอีก 60% และขึ้นภาษีทั่วไป 10% สำหรับประเทศอื่นๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ในระยะสั้น จากการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังอาเซียน แม้ว่าในระยะยาวอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดส่งออก จุดแข็งสูงสุดของการเติบโตคาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 67และไตรมาส 1 ปี 68 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย คาดว่า ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1.50-2%สอดคล้องกับทิศทางทั่วโลก เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลยังคงมีแนวโน้มเข้ามาต่อเนื่อง โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกของ 68
คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา