2024-12-25 IDOPRESS
ดันตั้งกองทุนชดเชยรถกระบะถูกยึด 5 พันล้าน กระตุ้นยอดขายรถในประเทศทรุดหนัก ชี้วินวินทั้งคนซื้อ-รัฐได้ภาษี มองฮอนด้าควบนิสสันสัญญาณดี ช่วยกระตุ้นลงทุนเพิ่ม
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มฯ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ตกต่ำต่อเนื่องไปให้รัฐบาล
โดยจัดตั้งกองทุนชดเชยการขาดทุนจากรถกระบะที่ถูกยึดวงเงิน 5,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถกระบะขึ้นมาก หากมียอดขายรถกระบะเพิ่มขึ้น 100,000 คัน หรือมูลค่า 60,000 ล้านบาท รัฐบาลจะมีรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิต 1,800 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,200 ล้านบาท สูงกว่างบที่นำมาจัดตั้งกองทุนฯ และยังมีรายได้จากส่วนอื่นๆ หากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเติบโตได้ดี
“การตั้งกองทุนฯ ถือเป็นเรื่องวินๆ ที่เราเลือกรถกระบะ เพราะรถกระบะ เป็นการใช้ชิ้นส่วนจากในประเทศสูงถึง 90% และเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน เพราะฉะนั้นการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ จะเพิ่มขึ้นอีกเยอะ และการชดเชยผลจากการขาดทุนจากรถถูกยึดให้ไฟแนนซ์ เป็นการชดเชยตามจริง แต่ไม่เกินคันละ 50,000 บาท เชื่อว่า จะทำให้กระตุ้นยอดขายได้ เพราะตอนนี้ไฟแนนซ์ไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะกลัวยึดรถแล้วขายขาดทุน ถ้ากระตุ้นยอดขายรถกระบะปีหน้าเพิ่มอีก 100,00 แสนคัน ยอดผลิตรถปีหน้าจะอยู่ที่ 1.8-1.9 ล้านคัน น่าจะมีส่วนช่วยให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ 2.8% เป็น 3.1-3.2%”
สำหรับยอดผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 117,251 คัน ลดลง 20.67% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตส่งออกลดลง 20.67% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 40.42% ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 11 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 1.36 ล้านคัน ลดลง 20.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดผลิตปีนี้ยังต่ำกว่าช่วงที่เกิดโควิด เพราะยอดส่งออกและยอดขายในประเทศลดลง ถ้ารัฐกระตุ้นเศรษฐกิจให้ ต้องรอลุ้นยอดผลิตเดือนสุดท้ายจะถึง 130,000 คัน หรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าปีนี้ที่ตั้งไว้ 1.5 ล้านคัน
ด้านยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน พ.ย.67 อยู่ที่ 89,646 คัน ลดลง 10% ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 77,699.50 ล้านบาท ลดลง 12.98% จากเดือน พ.ย. 66 เช่นกัน ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย. 67) อยู่ที่ 942,867 คัน ลดลง 8.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่ารวม 879,920.27 ล้านบาท ลดลง 0.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“เหลืออีกเดือนเดียว ดูตัวเลขแล้วสะเทือนใจ ทีแรกคิดว่าปีนี้จะดีขึ้น แต่เจอปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อแบบต้องมีความรับผิดชอบเข้าไปเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ยอดเลยสะดุด ยังไม่รู้ว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร”
ส่วนกรณีที่บริษัทแม่ของค่ายนิสสันและฮอนด้าในประเทศญี่ปุ่น ประกาศร่วมมือกันในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้านั้นจะส่งผลดีต่อทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทย เพราะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ขณะที่ตลาดโลกให้ความสนใจในเรื่องการลดปริมาณคาร์บอนเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมกันมากขึ้น
คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา