‘บีโอไอ’ถก’สภาอุตฯ’ ดึงค่ายรถใช้ชิ้นส่วนยานยนต์เอสเอ็มอีไทย แลกสิทธิประโยชน์เพิ่ม

2025-01-16 HaiPress

บีโอไอถกสภาอุตฯ เร่งหามาตรการอุ้มชิ้นส่วนยานยนต์ ดึงทุกค่ายรถใช้ชิ้นส่วนเอสเอ็มอีไทย แลกออนท็อปสิทธิประโยชน์เพิ่ม ยันไทยสนับสนับผู้ผลิตรถทุกค่าย ทุกประเภททั้งอีวี – ดั้งเดิม มั่นใจไม่มีค่ายรถไหนรถปิดโรงงานในไทยเพิ่ม ซ้ำรอยค่ายญี่ปุ่นก่อนหน้านี้

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัญหาน่าห่วงยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จีนเข้ามาตีตลาดในไทย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ไอซีอี) ของไทย ฝากให้บีโอไอ สร้างสมดุลให้ได้ ไม่เช่นนั้นระบบนิเวศที่ไทยสร้างรถยนต์ไว้จะพังหมดว่า ล่าสุดบีโอไอได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยการจูงใจให้ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นคนไทย (ไทยคอนเทนต์) จากเดิมมีเพียงข้อกำหนดการใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ ถ้าต่อไปใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยเอสเอ็มอีคนไทย จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นไปอีก คาดว่า ภายใน 2 เดือนนี้จะได้ข้อสรุป ก่อนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาต่อไป       

ทั้งนี้รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก ต้องการเห็นไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในทุกประเภท ทั้งไอซีอี อีวี  ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาถามว่า ทำไมถึงเน้นการส่งเสริมอีวี  เนื่องจากอีวี ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย จึงต้องออกมาตรการส่งเสริมออกมาต่อเนื่อง เพราะไทยต้องการเปลี่ยนสถานะจากผู้นำเข้าเป็นผู้ผลิตแทน เพื่อรักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของโลก จึงต้องออกมาตรการสนับสนุนผูกเงื่อนไข ต้องผลิตในประเทศ ไม่เช่นนั้นไทยจะมีสถานะเป็นเพียงผู้นำเข้า และนำเข้าจากจีน ภาษี 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่า ประสบความสำเร็จที่มีนักลงทุนหลายแบรนด์ หลายประเทศ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย

“ สิ่งที่เราทำเพิ่มเติมในการสร้างสมดุลทั้งอุตฯยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอุตสาหกรรมรถไอซีอี เป็นการดำเนินการควบคู่กันทั้ง 2ประเภท ล่าสุดได้หารือร่วมกับส.อ.ท. และสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อออกมาตรการส่งเสริมให้ใช้ไทยคอนเทนต์ เป็นมาตรการอีกชั้นหนึ่งออนท็อปเพิ่มเติม ตอนนี้กำลังหารือกับส.อ.ท. และสมาคมชิ้นส่วนฯ เพื่ออกแบบกลไกว่ามีวิธีการดูอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคนไทยตัวจริงได้ประโยชน์ เมื่อตกผลึกแล้วจะเสนอบอร์ดพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ จะมีกิจกรรมส่งเสริมการเชื่อมโยงซัพพลายเชนในประเทศ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งทางบีโอไอจะหาแนวทาง หรือมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมที่สุด เพื่อเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และติด 1 ใน 10 ของโลก” 

อย่างไรก็ตามในส่วนของการส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี ต้องทำให้อุตสาหกรรมแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำ ต้องสนับสนุนการลงทุนแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ขนาดใหญ่ให้เกิดในประเทศไทย คาดหวังให้เกิดขึ้นในปี 68 และปลายน้ำ  ต้องมีธุรกิจบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วและโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด และต้องมีระบบติดตามได้ว่าแบตเตอรี่อยู่ที่ไหน นำมารีไซเคิลให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่    

“ที่ผ่านมามาตรการอีวีที่เราเสนอบอร์ด เป็นการหารือร่วมกับผู้ประกอบการทุกค่ายของทุกประเทศ เพราะฉะนั้นมาตรการที่ออกมา ถือว่า ตอบโจทย์แผนการลงทุน เพื่อให้ทุกค่ายแข่งขันได้ นำไปสู่ให้ฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเข้มแข็ง ส่วนกรณีจะมีค่ายรถญี่ปุ่น ปิดอีกหรือไม่ ผมเชื่อมั่นว่า จะไม่มีการปิดอีก หลังจากเราได้พูดคุยทั้งมาตรการไฮบริด  มายด์ไฮบริด คลอบคลุมทุกค่าย  จะสามารถแข่งขันในประเทศไทย และเติบโตต่อไปได้”

นายนฤตม์ กล่าวต่อว่า มั่นใจว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโต สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้ เช่น มาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทย และต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สามารถเข้าไปอยู่ใน โกลบอล ซัพพาย เชน,มาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฮบริด และมายด์ไฮบริด เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฮบริด และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิต/ประกอบในประเทศ เพื่อให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม,การขยายเวลาการผลิตชดเชยมาตรการอีวี 3.0 ให้สามารถโอนไปผลิตชดเชยตามมาตรการ 3.5 ได้ เพื่อไม่ให้เร่งผลิตจนปริมาณรถอีวีออกมาล้นตลาด ทุกมาตรการที่บีโอไอและบอร์ดอีวีออกมา เพื่อต้องการรักษาความเป็นศูนย์กลางผลิต และส่งออกรถยนต์ระดับโลกในทุกประเภทอย่างยั่งยืน  

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ติดต่อเรา

©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายการศึกษาไทย    ติดต่อเรา  SiteMap