2025-01-20 HaiPress
ค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา อ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนที่ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ จับตาในสัปดาห์หน้านโยบายเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาพลิกแข็งค่า ขณะที่ ตลาดกลับมาประเมินจังหวะเวลาที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยใหม่อีกครั้ง หลังตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐ ออกมาต่ำกว่าที่คาด
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนที่ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ธ.ค. 2567 ของสหรัฐ ยังมีทิศทางค่อนข้างดี ซึ่งหนุนการคาดการณ์ว่า เฟดไม่น่าจะรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ แต่ยังคงสอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียที่ฟื้นตัวกลับมาเช่นกันตามทิศทางเงินหยวน (หลังทางการจีนส่งสัญญาณและออกมาตรการดูแลเพื่อประคองทิศทางเงินหยวน อาทิ การเพิ่มเพดานการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศสำหรับบริษัทต่างๆ และตัวเลขจีดีพีของจีน ซึ่งสะท้อนว่า จีนสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ 5% ในปี 2567 ที่ผ่านมา) และเงินเยน (ซึ่งตลาดเริ่มมีมุมมองว่า BOJ อาจคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ม.ค.นี้)
ด้านเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังจากมีรายงานข่าวที่ระบุว่า ทีมเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์อาจจะพิจารณาทยอยปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแทนการปรับขึ้นในคราวเดียว นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด (อาทิ PPI,Core CPI,ยอดค้าปลีก และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งกระตุ้นให้ตลาดกลับมาประเมินว่ามีโอกาสที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนช่วงกลางปีนี้
ในวันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 ม.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,539 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 10,393 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 10,386 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 6 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 20-24 ม.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.05-34.80 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ ค่าเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือน ธ.ค. ดัชนี PMI (เบื้องต้น) และดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคสหรัฐ เดือน ม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ (23-24 ม.ค.) การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีนด้วยเช่นกัน
คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา