‘นลินี’ ถกความร่วมมือ AIT พัฒนาทักษะแรงงานไทยรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล

2025-02-18 HaiPress

ประธานผู้แทนการค้าไทยเยือน AIT ขับเคลื่อนความร่วมมือ พัฒนาทักษะแรงงาน รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการลงทุนสมัยใหม่

นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้เดินทางเยือนสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology – AIT) พร้อมกับนางศิริพรรณ ชุมนุม ประธานสภาสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร และนางสุวรรณี คำมั่น ประธานสมาคมส่งเสริมพัฒนากำลังคนสเตมเพื่ออนาคต (International Association for the Future STEM Workforce) โดยมีศาสตราจารย์ Pai-Chi Li อธิการบดีและคณะผู้บริหารสถาบันฯ​ ให้การต้อนรับ โดยการเยือนมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาทักษะและศักยภาพแรงงานไทยให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) โดยเฉพาะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่

สำหรับการเยือนครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศผ่านการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีอัตโนมัติ โลจิสติกส์ และพลังงานหมุนเวียน โดย AIT ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงองค์ความรู้ระดับสากล โดยนำเสนอผลงานวิจัยและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงการที่โดดเด่น ได้แก่ AI Center ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แพลตฟอร์ม Smart Microgrid ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และระบบ Telehealth Monitoring สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ

ทั้งนี้ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ของ AIT ซึ่งครอบคลุมหัวข้อที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น การจัดการผลิตภาพด้วย AI เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) โดยหลักสูตรเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของแรงงานไทย และผลักดันประเทศไทยให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านแรงงานฝีมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเพิ่มสัดส่วนของนักเรียนที่เข้าสู่การศึกษาอาชีวศึกษา (TVET) เพื่อสนับสนุนการผลิตแรงงานฝีมือที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีนักเรียนไทยเพียง 30% ที่เข้าสู่ระบบนี้ ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

“การ Upskills และ Reskills แรงงานไทย เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีล้ำสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นสำหรับแรงงานยุคดิจิทัล โดยการส่งเสริมให้แรงงานสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดชีวิต จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับกำลังแรงงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” นางนลินี กล่าว

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ติดต่อเรา

©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายการศึกษาไทย    ติดต่อเรา  SiteMap