อาหารไทยไกลทั่วโลก ยอดส่งออกทะลุ 1.63 ล้านล้านบาท เติบโต 7.3%

2025-02-20 HaiPress

นิวไฮ! อาหารไทยไปไกลทั่วโลก ยอดส่งออกทะลุ 1.63 ล้านล้านบาท โต 7.3% ท่ามกลางความเสี่ยงศึกภาษีรอบใหม่ชาติมหาอำนาจ

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า การส่งออกอาหารไทยปี 2567 ทำรายได้เข้าประเทศสูงถึง 1,638,455 ล้านบาท เติบโต 7.3% ลุ้นปี 68 ขยายตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงจากการเปิดศึกภาษีรอบใหม่ระหว่างชาติมหาอำนาจ ตั้งเป้าส่งออกทั้งปี 1.75 ล้านล้านบาท โต 6.8%

การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมให้รายละเอียด

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่า การส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 มีมูลค่า 1,445 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ถือเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ของสินค้าอาหาร ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร หลังจากหลายประเทศเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่คลายตัวลงส่งผลทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ฟื้นตัว รวมทั้งค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับกลุ่มสินค้าที่การส่งออกเพิ่มขึ้นและมีอัตราขยายตัวสูง ได้แก่ ข้าว (+25.9%),อาหารสัตว์เลี้ยง (+30.5%),ปลาทูน่ากระป๋อง (+15.5%),ซอสและเครื่องปรุงรส (+10.5%),อาหารพร้อมรับประทาน (+30.2%) และผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+29.0%) การส่งออกข้าวของไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้าในหลายภูมิภาคเพิ่มขึ้นหลังผลผลิตลดลงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นมากตามแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกและพฤติกรรมการมองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสุขภาพและโภชนาการของสัตว์เลี้ยงเติบโตแบบก้าวกระโดด การส่งออกสินค้าพร้อมรับประทาน รวมทั้งปลาทูน่ากระป๋อง ซอสและเครื่องปรุงรส ขยายตัวสูง โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจผันผวนและค่าครองชีพสูง ส่งผลทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับสินค้าที่สร้างความสะดวกรวดเร็วในการบริโภคมากขึ้น

ตลาดส่งออกอาหารไทยในปี 2567 ส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง ได้แก่ แอฟริกา (+36.0%),ตะวันออกกลาง (+31.9%),โอเชียเนีย (+21.9.0%),สหรัฐอเมริกา (+19.0%) และสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร (+16.0%) โดยมีสินค้าส่งออกหลักทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตรอาหารจำพวกข้าว กลุ่มอาหารแปรรูปและพร้อมรับประทานที่สะดวกรวดเร็วในการบริโภค เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง อาหารพร้อมรับประทาน ตลอดจนกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและเครื่องปรุงอาหารทั้งซอสและเครื่องปรุงรส กะทิและเครื่องแกงสำเร็จรูป สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคภาคครัวเรือนในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนและค่าครองชีพสูง สำหรับตลาดส่งออกอาหารไทยที่หดตัวลง ได้แก่ อาเซียน (-4.1%) และจีน (-6.1%) การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนหดตัวลงตามสินค้าน้ำตาลทรายเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีนหดตัวลงตามสินค้าผลไม้สด แป้งมันสำปะหลังดัดแปร (Modified starch) กุ้งสดแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็ง และน้ำตาลทราย เป็นต้น

การค้าอาหารโลกในปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าการค้า 1,840 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 สหรัฐอเมริกา บราซิล เนเธอร์แลนด์ จีน และเยอรมนี เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ถึง 5 ของโลก ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยครองอันดับที่ 12 ในการส่งออกอาหารไปยังตลาดโลก อันดับโลกดีขึ้น 2 อันดับจากประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 14 ของโลกในปีก่อน ส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกของไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.53 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.40 ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ประเทศผู้ส่งออกในภูมิภาคอาเซียนที่โดดเด่น คือ เวียดนามที่มีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นมาจากร้อยละ 1.85 เป็นร้อยละ 2.34 ในปี 2567 อันดับโลกของเวียดนามเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 17 เป็นอันดับที่ 16 ของโลก ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคส่วนใหญ่ทั้งอินเดียและมาเลเซียมีอันดับและส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้น มีเพียงอินโดนีเซียที่มีอันดับและส่วนแบ่งตลาดโลกลดลงตามการส่งออกปาล์มน้ำมัน

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,750,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์วัตถุดิบปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน ทั้งผลผลิตมันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด และมะพร้าว ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่งผลดีช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจัดหาวัตถุดิบได้อย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทผันผวนแต่ยังอยู่ในกรอบที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2568 จะเคลื่อนไหวในช่วง 33-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าในครึ่งปีแรกและคาดว่าจะอ่อนค่าในครึ่งปีหลัง ตามทิศทางดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐ ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการพัฒนาสินค้าที่มีความหลากหลาย ราคาเหมาะสม มีคุณภาพและความปลอดภัย สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้าทั่วโลก เป็นปัจจัยหลักที่จะผลักดันการส่งออกอาหารไทยในปี 2568 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทำนิวไฮต่อเนื่อง

กลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มโดดเด่นในปี 2568 ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ซอสและเครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน และผลิตภัณฑ์มะพร้าว โดยการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมีแรงขับเคลื่อนจากแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งในตลาดหลักอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่ต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สินค้าพรีเมียมและฟังก์ชันนัลเพิ่มมากขึ้น ตลาดที่มีแนวโน้มดี เช่น จีน อินเดีย ที่จะเติบโตได้ในระยะยาว การส่งออกซอสและเครื่องปรุงรส มีแรงขับเคลื่อนจากความนิยมในอาหารและเครื่องปรุงรสไทยที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ การขยายตลาดในสหรัฐ และการพัฒนาซอสรสชาติที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เช่น ซอสเผ็ด การส่งออกอาหารพร้อมรับประทาน มีแรงขับเคลื่อนจากผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับความสะดวกรวดเร็วในการบริโภคอาหารในยุคที่เศรษฐกิจผันผวน กอปรกับมีเทคโนโลยีนวัตกรรมช่วยให้คงรสชาติและยืดอายุอาหารได้ดียิ่งขึ้น การส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว มีแรงขับเคลื่อนจากเทรนด์สุขภาพ และการขยายตัวของตลาดนมจากพืช (Plant-based milk)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารไทยยังคงมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก โดยเฉพาะนโยบายจัดเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (reciprocal tariffs) ของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ที่จะดำเนินการกับทุกประเทศที่เห็นว่าได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐ ซึ่งมาตรการที่เป็นรูปธรรมจะทราบผลและเริ่มบังคับใช้ในช่วงเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป อุตสาหกรรมอาหารไทยก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากอาหารเป็นหนึ่งในสาขาการผลิตที่ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ในระดับสูง ล่าสุดในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐ มูลค่า 172,380 ล้านบาท แต่นำเข้ามูลค่า 44,150 ล้านบาท ไทยเกินดุลการค้าอาหารกับสหรัฐ มูลค่า 128,230 ล้านบาท สัดส่วนราวร้อยละ 10 ของยอดเกินดุลการค้ารวมของไทย รองจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

นอกจากนี้ นโยบายจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐ ยังเสี่ยงต่อการเปิดศึกภาษีรอบใหม่ระหว่างชาติมหาอำนาจ ที่จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากสงครามการค้าดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีที่ผู้นำสหรัฐ จะเริ่มนำมาใช้กับประเทศคู่ค้าในหลายๆ ประเทศ เชื่อว่าจะมีการตอบโต้กันไปมา ท้ายที่สุดจะส่งผลต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ต้องรับกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและลดทอนอำนาจซื้อของผู้บริโภค รวมถึงกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและหลายประเทศในเอเชียให้ซบเซาต่อไป ซึ่งจีนและประเทศที่ถูกผลกระทบต้องหาตลาดใหม่ ทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะการแข่งขันรุนแรง เศรษฐกิจและการค้าโลกจึงเสี่ยงต่อการชะลอตัว และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการค้าอาหารของไทยได้ในที่สุด

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ติดต่อเรา

©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายการศึกษาไทย    ติดต่อเรา  SiteMap