เงินเฟ้อ มี.ค.68 โต 0.84% เพิ่ม 12 เดือนติด เครื่องดื่ม เนื้อสัตว์ ดีเซล ค่าเช่าบ้านพุ่ง

2025-04-07 IDOPRESS

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ มี.ค.68 เพิ่ม 0.84% บวกต่อเนื่อง 12 เดือนติด จากเครื่องดื่ม เนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป ดีเซล ค่าเช่าบ้านเพิ่ม รวม 3 เดือน เพิ่ม 1.08% คาดผลกระทบ ทรัมป์ ทำเป้าเงินเฟ้อทั้งปี 68 ลดลง แต่ยันไม่ถึงขั้นเงินฝืด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มี.ค.68 ดัชนีเท่ากับ 100.35 เทียบกับเดือนมี.ค.67 เพิ่มขึ้น 0.84% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน โดยเป็นผลจากราคาสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป น้ำมันดีเซล และค่าเช่าบ้าน เพิ่มขึ้น และนับหากรวม 3 เดือนแรกของปีนี้ เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มแล้ว 1.08% จากปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน มี.ค.68 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกมาเพิ่มขึ้น 0.86% ชะลอตัวลงจากเดือน ก.พ.68 ที่สูงขึ้น 0.99% และรวม 3 เดือน เพิ่มขึ้นที่ 0.89%

“แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 2 คาดว่า จะอยู่ที่ 0.14-0.15% ซึ่งต่ำกว่าไตรมาสที่ 1 ที่เฉลี่ย 1.08% เพราะภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ราคาผักสดและไข่ไก่ปรับลดลง เมื่อเทียบกับปี 67 ที่อยู่ในระดับสูง โดยปี 68 สภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ปริมาณผลผลิตผักและไข่ไก่เข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ไทยใช้อ้างอิงราคาเพื่อคำนวณเงินเฟ้อ ในปีนี้ต่ำกว่าปี 67 จึงทำให้แก๊สโซฮอล์ในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัว แต่ยืนยันไทยยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด เพราะแต่ละไตรมาสยังคาดขยายตัวเป็นบวก แต่เป็นอัตราชะลอตัวลง”

นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่จะมีต่อเงินเฟ้อไทยนั้น เบื้องต้น สนค.แบ่งกลุ่มสินค้าและบริการเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าที่อาจได้รับกระทบ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าเกษตรที่ไทยเตรียมนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้ราคาในประเทศลดลง และสินค้าบริการ ของภาครัฐและเอกชนที่คาดว่า จะไม่ได้รับผลกระทบเลย ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้า น้ำประปา บริการด้านศึกษา

อย่างไรก็ตาม สนค.จะนำปัจจัยทั้งหมด มาพิจารณาอีกครั้ง และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 68 ใหม่ น่าจะเป็นช่วงต้นเดือน พ.ค.68 โดยคาดว่า อาจทำให้เงินเฟ้อไทยลดลงต่ำกว่าคาดการณ์เดิม แต่ไม่มากนัก โดยคาดการณ์เดิมของปีนี้ อยู่ที่เพิ่มขึ้น 1-3% อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น มาจากวัตถุดิบสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสูงขึ้น ทั้งกะทิ กาแฟ และน้ำมันพืช และอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ที่ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา

ติดต่อเรา

©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 เครือข่ายการศึกษาไทย    ติดต่อเรา  SiteMap